เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 2. ภยสูตร
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ย่อมไม่ประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็น
ไปในสัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาด
จากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
2. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ...
3. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ...
4. บุคคลผู้พูดเท็จ ...
5. บุคคลผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย1อันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เพราะการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง
ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมไม่ประสพภัย
เวรที่เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็นไปในสัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกข-
โทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการ เป็นอย่างนี้แล
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์
เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”

เชิงอรรถ :
1 สุราและเมรัย หมายถึง สุรา 5 อย่าง คือ (1) สุราแป้ง (2) สุราขนม (3) สุราข้าวสุก (4) สุราใส่เชื้อ
(5) สุราผสมเครื่องปรุง และเมรัย 5 อย่าง คือ (1) เครื่องดองดอกไม้ (2) เครื่องดองผลไม้ (3) เครื่อง
ดองน้ำอ้อย (4) เครื่องดองน้ำผึ้ง (5) เครื่องดองผสมเครื่องปรุง (ขุ.ขุ.อ. หน้า 17-18)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :213 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 2. ภยสูตร
2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน”
3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติ
สมควร ได้แก่ อริยบุคคล 4 คู่ คือ 8 บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี
พระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควร
แก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
4. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา 4 ประการ เป็นอย่างนี้แล
อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้พิจาณาเห็นอย่างนี้ว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี
สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป
สิ่งนี้จึงดับไป1 คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี


เชิงอรรถ :
1 สํ.ม. 19/1024/337, ขุ.อุ. 25/1/93, ขุ.ม. 29/186/370, ขุ.จู. 30/88/190

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :214 }